ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ทั่วโลก ตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน ทำให้มีผู้ล้มป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก อันเป็นผลเนื่องมาจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจัดเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่กลับก่อโรคและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง
ข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับเชื้อจุลินทรีย์ โดยเฉพาะกลุ่มเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสนทนากันอย่างแพร่หลาย สะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักรู้และให้ความสำคัญของมนุษย์ ต่อการมีอยู่ของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคอย่างชัดเจน
อย่างที่ทราบกันดีว่าสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลโดยตรงต่อการแพร่กระจายของเชื้อจุลินทรีย์ โดยเฉพาะประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ซึ่งเป็นสภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ส่วนใหญ่ จึงทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะมีเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนอยู่ใน ดิน น้ำ อากาศ อาหาร ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค และสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา ได้เป็นอย่างดี
เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพและตรงตามเกณฑ์กำหนดของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น มาตรฐาน ISO มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อื่นๆ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะต้องไม่พบเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อน หรือพบในปริมาณที่อยู่ในเกณฑ์กำหนด ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อจุลินทรีย์
การทดสอบหาเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ตามมมาตรฐานการทดสอบที่เป็นสากล จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีความสำคัญที่จะช่วยการันตรีและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี
โดยสถาบันฯ สามารถให้บริการทดสอบหาเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ ตามมาตรฐานการทดสอบที่เป็นสากลได้หลายรายการ ดังนี้
1. การทดสอบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียใช้อากาศทั้งหมด (Total Aerobic Mesophilic Bacteria) ตามมาตรฐานการทดสอบ ISO 21149: 2017 Enumeration and Detection of Aerobic Mesophilic Bacteria
เชื้อแบคทีเรียใช้อากาศทั้งหมด (Total Aerobic Mesophilic Bacteria) เจริญเติบโตบนอาหารเพาะเชื้อ Tryptic Soy Agar
2. การทดสอบการปนเปื้อนของยีสต์และเชื้อราทั้งหมด (Total Yeast and Mould) ตามมาตรฐานการทดสอบ ISO 16212: 2017 Enumeration of Yeast and Mould
เชื้อยีสต์และเชื้อราทั้งหมด (Total Yeast and Mould) เจริญเติบโตบนอาหารเพาะเชื้อ Sabouraud chloramphenicol Agar
3. การทดสอบการปนเปื้อนของเชื้อ Staphylococcus aureus ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมบวก รูปร่างกลม (coccus) พบในอากาศ ฝุ่นละออง ขยะมูลฝอย ทางเดินหายใจ ลําคอ เส้นผม ทางเดินปัสสาวะ บาดแผล และผิวหนังของมนุษย์ สามารถสร้างสารพิษ (Enterotoxin) ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน เป็นตะคริวในช่องท้องและอ่อนเพลีย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ เป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ และมีการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิตเป็นระยะๆ รวมทั้งอาจมีการเต้นของชีพจรผิดปกติ ฯลฯ
ซึ่งสามารถทำการทดสอบเพื่อหาเชื้อ Staphylococcus aureus ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ได้ตามมาตรฐานการทดสอบ ISO 22718: 2015 Detection of Staphylococcus aureus
เชื้อ Staphylococcus aureus เจริญเติบโตบนอาหารเพาะเชื้อ Baird Parker Agar
4. การทดสอบการปนเปื้อนของเชื้อ Candida albicans ซึ่งเป็นเชื้อราที่มี 2 รูปแบบ คือ ยีสต์และสายรายาว สามารถเจริญเติบโตได้ทั้งที่ผิวหนังและในสารคัดหลั่งของร่างกาย ก่อให้เกิดโรคเชื้อราในช่องคลอด เพราะเป็นเชื้อที่สามารถยึดติดกับเซลล์เยื่อบุช่องคลอดได้ดี ทำให้มีอาการคันและตกขาว ซึ่งสามารถทำการทดสอบเพื่อหาเชื้อ Candida albicans ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ได้ตามมาตรฐานการทดสอบ ISO 18416: 2015 Detection of Candida albicans
เชื้อ Candida albicans เจริญเติบโตบนอาหารเพาะเชื้อ Sabouraud chloramphenicol agar
5. การทดสอบการปนเปื้อนของเชื้อ Pseudomonas aeruginosa ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบ รูปร่างเป็นท่อน (Rod shape) หรือโค้งเล็กน้อย ถือเป็นสปีชีส์ที่มีความสำคัญทางคลินิก และเป็นเชื้อโรคที่ทนทานต่อยาหลายชนิด สามารถก่อโรคได้ทั้งในพืช สัตว์และมนุษย์ ซึ่งสามารถทำการทดสอบเพื่อหาเชื้อ Pseudomonas aeruginosa ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ได้ตามมาตรฐานการทดสอบ ISO 22717: 2015 Detection of Pseudomonas aeruginosa
เชื้อ Pseudomonas aeruginosa เจริญเติบโตบนอาหารเพาะเชื้อ Cetrimide agar
6. การปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในสกุล Clostridium spp. ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก รูปร่างเป็นท่อน (Rod shape) สามารถสร้างสปอร์ (spore forming bacteria) ได้ เจริญเติบโตได้โดยไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic bacteria) เป็นสาเหตุของการเสื่อมเสียของอาหาร (microbial spoilage) และสามารถสร้างสารพิษ (toxin) ที่มีอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์และสัตว์ ซึ่งสามารถทำการทดสอบเพื่อหาเชื้อแบคทีเรียในสกุล Clostridium spp. ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ได้ตามมาตรฐานการทดสอบ United States Pharmacopeia (USP)
เชื้อ Clostridium spp. เจริญเติบโตบนอาหารเพาะเชื้อ Blood agar
7. การปนเปื้อนของเชื้อ Escherichia coli ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ รูปร่างเป็นท่อน (Rod shape) เป็นเชื้อประจําถิ่น (Normal flora) ที่พบได้ในลําไส้ของคนและสัตว์เลือดอุ่น โดยปกติจะไม่ทําอันตรายหรือก่อโรคร้ายแรง เมื่ออยู่ในลําไส้จะช่วยย่อยอาหารที่เรารับประทานเข้าไป แต่หากเชื้อลุกล้ำเข้าสู่ระบบต่างๆ ของร่างกายก็จะทําให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรง เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น และมีเชื้อบางสายพันธุ์ที่ทําให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้ โดยการปนเปื้อนของเชื้อในอาหารหรือน้ำดื่ม ซึ่งสามารถทำการทดสอบเพื่อหาเชื้อ Escherichia coli ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ได้ตามมาตรฐานการทดสอบ ISO 21150: 2015 Detection of Escherichia coli
เชื้อ Escherichia coli เจริญเติบโตบนอาหารเพาะเชื้อ MacConkey agar
ตัวอย่างเกณฑ์กำหนด การทดสอบหาเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนชนิดต่างๆ ในผลิตภัณฑ์
ชนิดเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อน | มาตรฐานการทดสอบ | เกณฑ์กำหนด | หมายเหตุ |
Aerobic Mesophilic Bacteria (Total bacteria) | ISO 21149: 2017 Enumeration and Detection of Aerobic Mesophilic Bacteria | รวมกัน ไม่เกิน 1,000 CFU / ตัวอย่าง 1 กรัม หรือ 1 ml หรือ ตามเกณฑ์อื่นๆ | |
Yeast and Mould (Total yeast and mould หรือ Total fungi) | ISO 16212: 2017 Enumeration of Yeast and Mould | ||
Staphylococcus aureus | ISO 22718: 2015 Detection of Staphylococcus aureus | ต้องตรวจไม่พบ | |
Candida albicans | ISO 18416: 2015 Detection of Candida albicans | ต้องตรวจไม่พบ | |
Pseudomonas aeruginosa | ISO 22717: 2015 Detection of Pseudomonas aeruginosa | ต้องตรวจไม่พบ | |
Clostridium spp. | United States Pharmacopeia (USP) | ต้องตรวจไม่พบ | |
Escherichia coli | ISO 21150: 2015 Detection of Escherichia coli | ต้องตรวจไม่พบ |